ข้อห้ามที่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด เมื่อต้องไปสัมภาษณ์งาน

ข้อห้ามที่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด เมื่อต้องไปสัมภาษณ์งาน

เมื่อขั้นตอนการสมัครงานของคุณเดินทางมาถึงเวลาที่บริษัทเรียกคุณเพื่อเข้าสัมภาษณ์งานแล้วก็หมายความว่าบริษัทมีความสนใจในตัวคุณ คุณสมบัติของคุณถือว่าได้ผ่านด่านแรกมาเรียบร้อยแล้ว ผลการเรียนหรือประสบการณ์การทำงานในอดีตของคุณเป็นที่น่าสนใจ ส่วนขั้นตอนในการสัมภาษณ์งานที่ปกติทุกบริษัทก็จะมีขั้นตอนนี้ก็เพื่อเป็นการพิจารณาในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่สามารถพิจารณาจากในเอกสารใบสมัครได้ เช่น บุคลิกภาพของผู้สมัคร หรือต้องการถามความคิดเห็นหรือทดสอบความรู้บางอย่างที่ไม่สามารถทำในเอกสารได้ เช่น ทดสอบภาษาพูด นอกจากนั้นยังต้องการดูในเรื่องอารมณ์ สีหน้า ท่าทางต่าง ๆ ของผู้สมัครในภาวะต่าง ๆ ด้วย ในส่วนของบริษัทเองก็จะถือโอกาสในช่วงสัมภาษณ์ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะงานหรือขอบข่ายความรับผิดชอบในงานที่รับสมัครให้กับผู้สัมภาษณ์ได้ทราบอย่างละเอียดมากขึ้น

ดังนั้นเมื่อคุณผ่านเข้ามาถึงรอบของการสัมภาษณ์งาน การเตรียมตัวก่อนไปสัมภาษณ์ถือเป็นเรื่องที่ควรต้องปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง เพราะโอกาสที่จะได้เข้าทำงานในงานที่เราสมัครก็เหลือแต่ขั้นตอนการสัมภาษณ์นี้เท่านั้น หากไม่เตรียมพร้อมให้ดีก็อาจตกม้าตายได้ในด่านสุดท้าย

วันนี้เรามีข้อแนะนำสำหรับสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด เมื่อคุณต้องเข้าสัมภาษณ์งาน เพื่อคุณจะได้ทราบและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และไม่เสียโอกาสที่ดีในการได้รับงานไปอย่างน่าเสียดายเหมือนกับหลาย ๆ คนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมก่อนไปสัมภาษณ์

  • ไม่ซักซ้อมการสัมภาษณ์มาก่อน ก่อนไปสัมภาษณ์ควรมีการซักซ้อมการสัมภาษณ์ก่อน ปกติคำถามที่จะใช้ในการสัมภาษณ์งานก็จะมีคำถามหลัก ๆ อยู่ เช่น ทำไมถึงอยากทำงานกับบริษัทเรา เหตุผลในการลาออกจากบริษัทเก่า ให้เล่าประวัติของตัวเองแบบคร่าว ๆ อาจมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการทำงานล่วงเวลาว่าเราสามารถทำได้หรือไม่ เป้าหมายของชีวิตในอนาคต งานอดิเรกในเวลาว่างของเรา หรือเรื่องเงินเดือนที่เราต้องการได้รับ หากไม่เตรียมคำตอบในคำถามเหล่านี้ก่อนล่วงหน้าถือว่าไม่ทำการบ้านมาให้ดีพอ ถึงเวลาเจอคำถามแล้วอ้ำอึ้ง คิดคำตอบไม่ทัน หรือตื่นเต้นทำให้ตอบคำถามได้ไม่ดี ก็จะมีผลกับการสัมภาษณ์งาน

  • ไปสัมภาษณ์งานสาย ไปไม่ทันเวลา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใดก็แล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นการสร้างความไม่ประทับใจตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนไปต้องดูเวลานัดหมายให้ดี ศึกษาเส้นทางที่จะใช้เดินทางไปเพื่อสัมภาษณ์ เลือกใช้เส้นทางหรือวิธีการเดินทางที่มีโอกาสจะผิดพลาดในเรื่องของเวลาให้น้อยที่สุด เหตุผลประเภทรถติด หรือหลงทางทำให้มาไม่ทัน นี่ฟังไม่ขึ้นจริง ๆ ดูแล้วไม่มืออาชีพเลย การไม่ตรงต่อเวลาที่แสดงออกตั้งแต่ครั้งแรกจะทำให้ผู้สัมภาษณ์มองว่าอนาคตเราก็คงมีโอกาสมาทำงานสายแน่ ๆ

  • ตื่นเต้น กังวล หรือกลัวมากเกินไป คุณควรควบคุมอารมณ์ของคุณให้ดี ให้นิ่ง ไม่แสดงออกว่ากลัว กังวล หรือตื่นเต้นมากจนเกินไป ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์อาจนั่งนิ่งเงียบ ๆ เพื่อเรียกสมาธิเพื่อให้จดจ่ออยู่กับการสัมภาษณ์ หายใจเข้าออกช้า ๆ ความตื่นเต้นหรือกังวลอาจทำให้คุณตอบคำถามของผู้สัมภาษณ์ได้ไม่ดี และผู้สัมภาษณ์ก็อาจเห็นว่าคุณไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือระงับความกังวลได้

  • ไม่สบตาผู้ให้สัมภาษณ์ หลบตา ก้มหน้า เป็นการแสดงออกถึงความไม่มั่นใจ ยิ่งหากมัวแต่มองที่โทรศัพท์มือถือ หรือเอามือเล่นผม จับหน้า แคะเล็บ การกระทำต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากแสดงถึงความไม่มั่นใจ ยังแสดงถึงบุคลิกภาพที่ไม่ดีของคุณที่ผู้สัมภาษณ์สามารถสังเกตได้ง่าย เมื่อเข้าสัมภาษณ์ ควรนั่งตัวตรง หลังตรง มือวางไว้ด้านหน้าตักหรือข้างลำตัว ตาควรมองไปที่ผู้สัมภาษณ์เวลาตอบคำถาม เพื่อเป็นการแสดงความสนใจและความตั้งใจของคุณด้วย

  • ไม่มีคำถามที่จะถาม เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่าคุณมีข้อสงสัยอะไรหรือไม่ เพราะการไม่มีคำถามถามแสดงถึงการไม่ทำการบ้านมาดีพอเช่นกัน เป็นการไม่ได้เตรียมพร้อมหรือเตรียมตัวมา คำถามเหล่านี้จะเป็นการแสดงถึงความสนใจต่อบริษัทหรืองานที่คุณสมัครไป เป็นการต้องการทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกได้ถึงความสนใจและตั้งใจจริงของคุณ ก่อนไปสัมภาษณ์คุณควรเตรียมคำถามไว้สัก 2-3 คำถามเผื่อ อาจเป็นคำถามที่เกี่ยวกับขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบในงาน เช่น ความยากที่สุดของงานที่เราต้องทำอยู่ตรงไหน หรืออาจถามย้ำอีกครั้งในเรื่องของเวลาทำงานก็ได้

  • ถามเรื่องเงินเดือนก่อน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด ควรให้ผู้สัมภาษณ์เป็นผู้ถามเราแล้วเราค่อยบอกเงินเดือนที่อยู่ในใจเราออกไป การสัมภาษณ์ควรเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปและเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบในตัวงานก่อน เรื่องเงินเดือนโดยปกติผู้สัมภาษณ์ของแต่ละบริษัทจะไว้ที่ส่วนท้ายของการสัมภาษณ์อยู่แล้ว ดังนั้นให้รอก่อนไม่ควรชิงถามไปก่อน เพราะจะดูไม่ดี และที่สำคัญอีกอย่างคือ ไม่ควรถามเน้นแต่เรื่องของหยุด หรือคำถามที่แสดงออกว่าคุณไม่อยากทำงานหนักหรือไม่อยากรับผิดชอบมาก

  • ไม่สามารถบอกจุดอ่อนหรือจุดด้อยของตัวเองได้ ปกติคำถามยอดฮิตของการสัมภาษณ์ก็จะมีให้บอกข้อด้อยของตัวเอง ซึ่งตามหลักจิตวิทยาแล้ว ไม่ใช่ว่าเมื่อคุณบอกข้อด้อยของคุณไปแล้วจะดูไม่ดี แต่ตามหลักจิตวิทยาที่ดีคือคนเราควรรู้ข้อด้อยของตัวเองเพื่อที่จะสามารถปรับปรุงได้ แต่หากคุณไม่รู้ข้อด้อยแล้วคุณจะปรับปรุงที่ตรงไหน ทุกคนต้องมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ดังนั้นควรคิดพิจารณาถึงข้อด้อยของตัวเอง และสามารถตอบได้ พร้อมกับบอกด้วยว่าเราจะสามารถปรับปรุงหรือแก้ไขข้อด้อยของเรานั้นได้อย่างไร

  • พูดถึงบริษัทหรือที่ทำงานเก่าในแง่ที่ไม่ดี ผู้สัมภาษณ์ต้องถามอยู่แล้วว่าทำไมถึงลาออกจากที่เก่า คุณก็เตรียมเหตุผลที่จะตอบไป แต่คุณไม่ควรที่จะพูดถึงบริษัทเก่า เจ้านายเก่า หรือเพื่อนร่วมงานเก่าในแง่ที่ไม่ดี แม้ว่าในความเป็นจริงอาจจะมีปัญหากันจริงแล้วลาออกก็ตาม เพราะนั่นจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเข้ากับคนอื่น ๆ ไม่ได้ของคุณ และเป็นการบอกว่าคุณมองโลกในแง่ร้าย ที่สำคัญบริษัทใหม่ก็จะคิดว่าหากคุณลาออกจากที่นี่ไป ก็คงไม่พ้นที่คุณจะเอาบริษัทหรือคนของบริษัทไปพูดในแง่เสียหายได้เหมือนกัน ดังนั้นข้อนี้ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด

ขอบคุณที่มา โดย MoneyHub

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *